เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับรายวิชาเครื่องสายไทย 1 การฝึกหัดซอด้วงและซออู้เบื้องต้น

วันพฤหัสบดี

ส่วนประกอบซออู้

2. ส่วนประกอบของซออู้
ส่วนประกอบของซออู้ สัดส่วนของซออู้นั้นจะเอาแน่นอนเหมือนซอด้วงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถบังคับต้นมะพร้าวให้ออกลูกเท่าๆ กันทุกลูกได้ ด้วยเหตุนี้ซออู้จึงมีกะโหลกเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้คันซอหรือทวน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามขนาดของกะโหลกซอด้วย
1) คันซอ หรือคันทวน คันทวน มี 3 ช่วง คือ ทวนบน ทวนกลาง หรือ อก และทวนล่าง คันทวนยาวประมาณ 60 เซนติเมตร คันทวนมีลักษณะกลึงกลมเกลี้ยงค่อย ๆ ใหญ่จากโคนลงมาหาปลาย ส่วนของคันซอจากเหนือรัดอกขึ้นไปถึงยอดข้างบนเรียกว่า “ทวนบน” ทวนบนนี้กลึงกลมต่อจากทวนล่างโดยค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นไปตอนปลายทีละน้อยเพื่อให้ดูสวยงามรับกับคันทวนที่ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นดังกล่าวแล้ว ตรงช่วงเหนือกะโหลกขึ้นไปประมาณ 20 เซนติเมตร เรียกว่า “ทวนล่าง” ส่วน “ทวนกลาง” นั้น ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่ระหว่างทวนบนและทวนล่าง
2) ลูกแก้ว อยู่ระหว่างปลายสุดหรือยอดทวนลงมาประมาณ 10.5 เซนติเมตรโดยการกลึง ตัวทวนเป็นลูกแก้วคั่นไว้ลูกหนึ่ง ต่อจากนั้นลงมาอีก 8.5 เซนติเมตร กลึงอีกลูก 1 ลูก และอีก 8.5 เซนติเมตร กลึงอีก 1 ลูก รวมแล้วลูกแก้วค้างอยู่บนทวนบน 3 ลูก
3) ลูกบิด ลูกบิดนี้จะอยู่ระหว่างลูกแก้วลูกที่ 1 และลูกแก้วลูกที่ 2 และบนลูกแก้วลูกที่ 3 จะเจาะรูไว้ช่วงละ 1 รู สำหรับลูกบิดสอดเข้าไป ลูกบิดนี้มีไว้เพื่อใช้ในการพันสายซอและบิดสายเอกและสายทุ้ม ลูกบิดอันล่างสำหรับสายเอก ลูกบิดอันบนสำหรับสายทุ้ม ลูกบิดทั้งสองอันมีลักษณะเท่ากันและเหมือนกัน
4) รัดอก อยู่ตรงทวนกลาง รัดอกจะรัดสายซอทั้งสองเข้ากับคันซอ วัสดุที่ใช้ทำรัดอกควรใช้สายเอกซอด้วง ความกว้างของรัดอกที่เหมาะสม คือประมาณ 0.5 เซนติเมตร ระยะของรัดอกระหว่างคันทวนถึงสายซอประมาณ 2.5 เซนติเมตร ขอบบนของรัดอกซอ อยู่ต่ำกว่าลูกแก้วใต้ลูกบิดสายเอกประมาณ 0.6 เซนติเมตร
5) กะโหลกซอ เป็นเหมือนกล่องเสียงของซออู้ กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว หน้ากะโหลกลึกประมาณ 11.5 เซนติเมตร กว้างและยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ท้ายกะโหลกซอนี้จะแกะสลัก เพื่อเป็นช่องสำหรับให้เสียงออก และมักแกะสลักฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยมากจะเป็นรูปร่างหนุมาน พระรามแผลงศร หรืออาจเป็นรูปอื่น ๆ ตามความต้องการและฝีมือของช่างแกะสลักที่จะตกแต่งให้เกิดความสวยงาม
6) หนังหน้าซอ กะโหลกซออู้จะขึ้นหน้าด้วยหนังวัวหรือหนังแพะ ถ้าเป็นกะโหลกที่ดีจริง ๆ แล้ว มักจะขึ้นด้วยหนังสดเอาโขลกกับน้ำพริกแกงจนนิ่ม เรียกว่า “หนังแกง” หนังแกงนี้ ทำให้ได้เสียงนุ่มนวล น่าฟัง ส่วนกะโหลกทั่ว ๆ ไปมักจะขึ้นหนังหน้าซอด้วยหนังฟอกทั่ว ๆ ไป
7) หมอนหรือหย่อง ทำด้วยผ้าพันกันจนกลมหรือทำด้วยกระดาษม้วน ๆ มีลักษณะกลมคล้ายหมอน เส้นผ่าศูนย์กลางของหมอนประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร หมอนซอนี้จะวางไว้ในตำแหน่งตรงกึ่งกลางหน้าซอ โดยให้สายซอพาดอยู่ข้างบนและตั้งฉากกับแนวยาวของหมอน ไม่ให้สายแนบติดกับหน้าซอในเวลาสีซอ
8) ก้านคันชัก หรือบางทีเรียกว่า “คันสี” ทำด้วยไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกับคันทวน มีลักษณะกลึงกลมให้เป็นคันคล้าย ๆ คันศร ความยาวประมาณ 74 เซนติเมตร ก้านคันชักนี้ต้องมีหางม้าขึงตึงประกอบด้วย
9) หางม้า ที่เรียกว่า “หางม้า” ก็เพราะนำเอาหางม้าจริงๆ มาใช้ทำคันชักซอ แต่ในปัจจุบันหางม้าจริงๆ มีราคาแพง จึงหันมาใช้ไนล่อนแทนหางม้า ไนล่อนนี้ทำขึ้นเป็นเส้นละเอียดเหมือนหางม้า แต่ไม่มีปุ่มเล็กๆ เหมือนหางม้าจริงๆ จึงทำให้ลื่น ฉะนั้นจึงต้องใช้ยางสนถูไปมาที่ไนล่อนเพื่อให้เกิดความฝืดเวลาสีซอจะทำให้เกิดเสียงดัง จำนวนเส้นของหางม้าหรือไนล่อนนี้ ไม่น้อยกว่า 250 เส้น
10) หมุดยึดหางม้า เป็นหมุดที่ใช้ยึดตรึงหางม้าไว้กับก้านคันชักให้ตึง นิยมด้วยไม้ โลหะและงาช้าง
11) สายซอ ทำด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว มี 2 สาย สายทุ้ม (สายใหญ่) สายเอก (สายเล็ก) ทั้งสองสายนี้พาดอยู่บนหมอน ระยะห่างระหว่างสายห่างกันประมาณ 0.7 เซนติเมตร
หากจำเป็นต้องใช้สายเอ็นให้ใช้เบอร์ 90 แทนสายเอก และเบอร์ 110 แทนสายทุ้ม

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
25/2 ม.5 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ, จ.พระนครศรีอยุธยา, Thailand
มีความฝันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กๆ มีโอกาสเข้ามาเรียนดนตรีไทยตั้งแต่ ป.5 ที่โรงเรียนเทศบาลท่าเรือประชานุกูล ได้เข้าศึกษาชั้น ม. 1 ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จนสอบบรรจุได้ที่นี่ครับ ประวัติการศึกษา ปริญญาตรี (บริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กำลังศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม