เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เกี่ยวกับรายวิชาเครื่องสายไทย 1 การฝึกหัดซอด้วงและซออู้เบื้องต้น

วันพุธ

ประวัติความเป็นมาของซออู้

ประวัติที่มาของซอด้วงและซออู้
จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏข้อความในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราไว้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - 2031) ในกฎมณเฑียรบาลตอนที่ 15 และ 20 อันเป็นบทบัญญัติกำหนดโทษแก่ผู้ที่เล่นดนตรีเพลิดเพลินเกินขอบเขตเข้าไปถึงพระราชฐานขณะล่องเรือผ่านนั้น ปรากฏมีชื่อเครื่องดนตรีระบุไว้ ได้แก่ ขลุ่ย ปี่ ซอ จะเข้ กระจับปี่ โทน ทับ
ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า “ขบวนเรือยาวที่แห่มารับตัวท่านและคณะว่ามีเสียงเห่ เสียงโห่และเสียงดนตรีประเภทกระจับปี่สีซอดังกึกก้องไพเราะไปทั่วคุ้งน้ำ...”
จะเห็นได้ว่า ในกฎมณเฑียรบาลและในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ได้มีการกล่าวถึง “ซอ” ไว้อย่างชัดเจน แต่เสียดายที่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นซออะไร

2. ประวัติที่มาของซออู้
ซออู้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี มี 2 สาย มีเสียงทุ้มต่ำ ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว แต่ใช้กะลามะพร้าวพันธุ์ซอ ขนาดกะโหลกใหญ่เป็นพู มีการแกะสลักกะโหลกให้มีลวดลายวิจิตรบรรจงสวยงาม มะพร้าวพันธุ์ซอนี้ส่วนมากปลูกในอำเภอบางคนทีและอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ซออู้ของไทยมีรูปร่างคล้ายซอชนิดหนึ่งของจีน ที่มีชื่อว่า “ฮู-ฮู้” (Hu-hu) มี 2 สายเหมือนกันแต่ ฮู-ฮู้ มีนมรับสายก่อนจะถึงลูกบิด และลูกบิดอยู่ทางด้านขวามือของผู้เล่น ตรงลูกบิดที่จะสอดเข้าไปในทวนนั้นขุดทวนให้เป็นรางยาวและเอาสายผูกไว้กับก้านลูกบิดในร่องหรือรางนั้น และบางทีซออู้ของไทยอาจเอาแบบอย่างมาจากจีน แต่ในอีกแนวคิดหนึ่งซออู้นั้นอาจเป็นซอที่ประดิษฐ์ขึ้นก่อนซอของจีนและเป็นซอของไทยแท้ ๆ ที่ไม่ได้เลียนแบบมาจากประเทศอื่น เหตุผลเพราะว่าสมัยก่อนมีกลุ่มชนชาวไทยซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้อพยพลงมาและชนกลุ่มนี้มีความเจริญทางด้านศิลปะการดนตรี จึงได้คิดประดิษฐ์สร้างดนตรีขึ้นบรรเลง เพื่อความสนุกสนานและเพื่อผ่อนคลายความเครียด จากสาเหตุดังกล่าว จากที่เราเคยอาศัยอยู่ในประเทศจีนจึงเป็นเหตุให้เชื่อว่าเราอาจเลียนแบบมาจากจีน แต่แท้ที่จริงแล้วคนไทยในประเทศจีนเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเองไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากใคร
“ซออู้เป็นซอประเภทเครื่องสี มี 2 สายเช่นเดียวกับซอด้วง วิธีการบรรเลงโดยทั่วไปก็เป็นแบบเดียวกับซอด้วง คือ ท่านั่ง ท่าจับซอ ท่าจับคันชัก การใช้นิ้ว การไกวคันชัก คันชักออก คันชักเข้า คันชักสะบัด คันชักหนึ่ง สอง สี่ แปด ฯลฯ เป็นแบบเดียวกับซอด้วงทั้งสิ้น แต่ต้องนำมาเขียนแยกออกจากกันก็เพราะ ถึงวิธีการโดยทั่วไปจะละม้ายคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่หลักการโดยเฉพาะของมันย่อมแตกต่างกันไม่ใช่น้อย ทั้งนี้เพราะซออู้เป็นซอเสียงทุ้ม มีหน้าที่บรรเลงขัด ล้อ ต่อ เหลื่อม ล่อ หลอก หน่วง ล้ำหน้า ฯลฯ คลุกเคล้าไปกับซอด้วง พูดง่าย ๆ ก็ว่าซอด้วงเป็นซอยืนหรือเป็นพระเอกประจำวง แต่ซออู้นี้เท่ากับเป็นตัวตลกคลุกคลีไปกับซอด้วงทำให้การบรรเลงสนุกสนานน่าฟัง” (ศจ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2525 : 1)
แต่อย่างไรก็ตามเท่าที่มีหลักฐานพอจะทราบได้ว่า “ซออู้” เข้าร่วมประสมวงดนตรีในวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อราวสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และต่อมาในระยะหลังนี้ได้นำเข้าบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และนิยมนำมาบรรเลงเดี่ยว

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
25/2 ม.5 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ, จ.พระนครศรีอยุธยา, Thailand
มีความฝันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กๆ มีโอกาสเข้ามาเรียนดนตรีไทยตั้งแต่ ป.5 ที่โรงเรียนเทศบาลท่าเรือประชานุกูล ได้เข้าศึกษาชั้น ม. 1 ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จนสอบบรรจุได้ที่นี่ครับ ประวัติการศึกษา ปริญญาตรี (บริหารการศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กำลังศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม